ถามว่า ถ้าคำว่าแล็ปท็อปให้เรียกว่า 'คอมพ์วางตัก' แล้วคำว่าแท็บเล็ต (tablet Computer) เราคนไทยควรจะเรียกว่าอะไรดี

กรณีศาสตราจารย์กิติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตผู้เชี่ยวชาญภาษาและวรรณคดีไทยให้ความเห็นว่า สื่อมวลชนและบุคคลสาธารณะควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้คำศัพท์ตาม หนังสือศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ราชบัณฑิตสถานได้รวบรวมไว้เพื่อใช้อ้างอิง เช่น อีเมล ให้ใช้เป็น ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์, เน็ตเวิร์ก ให้ใช้ เครือข่าย, เสิร์ช ให้ใช้ ค้นหา และที่โดดเด่นที่สุดคือ แล็ปท็อป ให้ใช้เป็นคำว่า 'คอมพิวเตอร์วางตัก' แทน

ถามว่า ถ้าคำว่าแล็ปท็อปให้เรียกว่า 'คอมพ์วางตัก' แล้วคำว่าแท็บเล็ต (tablet Computer) เราคนไทยควรจะเรียกว่าอะไรดี

การบัญญัติศัพท์ laptop ว่าคอมพิวเตอร์วางตักนั้นถือว่าสมเหตุสมผล เพราะคำว่า lap นั้นแปลว่าหน้าตัก ส่วน top นั้นแปลว่าบน ถือว่าตรงตัวและเหมาะสมเข้าใจได้ตามที่ต่างชาติบัญญัติขึ้น

แต่สำหรับคำว่า tablet ซึ่งพจนานุกรมภาษาอังกฤษ-ไทย ของ ศ.ดร. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม อธิบายความหมายไว้ว่า 'ยาเม็ดแบน, ป้าย, แผ่นจารึก, แผ่นหนังสือ, แผ่นเหล็ก, ก้อนแบน' ดูเหมือนว่าจะค่อนข้างประหลาดหากราชบัณฑิตฯจะบัญญัติศัพท์ที่ตรงตัวกับความหมาย เช่น คอมพิวเตอร์แผ่นเหล็ก หรือคอมพิวเตอร์ก้อนแบน เป็นต้น

ประเด็นนี้เชื่อว่าหลายคนจับตาดูกันสนุกสนาน ว่าราชบัญฑิตจะประกาศศัพท์ใดออกมาสำหรับแท็บเล็ต หรือจะมีความเป็นไปได้ที่ราชบัญฑิตจะกำหนดให้แท็บเล็ตถูกเรียกทับศัพท์ว่าแท็บเล็ตต่อไป ที่ผ่านมา คำที่ราชบัญฑิตกำหนดให้เรียกทับศัพท์นั้นมีมากมาย เช่น internet (อินเทอร์เน็ต) digital (ดิจิทัล) graphic (กราฟิก) click (คลิก) mouse (เมาส์) electronics (อิเล็กทรอนิกส์) web site (เว็บไซต์) script (สคริปต์) software (ซอฟต์แวร์) browser (เบราว์เซอร์) bandwidth (แบนด์วิดท์) supercomputer (ซูเปอร์คอมพิวเตอร์) ซึ่งทุกคำล้วนสื่อความหมายที่เข้าใจง่าย

ผิดกับคำอีกมากที่ราชบัญฑิตกำหนดไว้แต่ไม่มีใครนิยมใช้ เช่นคำว่า Scanner ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติไว้ว่า เครื่องกวาดตรวจ แต่นิยมใช้คำทับศัพท์มากกว่า, Smart card ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติไว้ว่า บัตรเก่ง แต่นิยมใช้คำทับศัพท์ว่า สมาร์ทการ์ด ยังมีคำว่า Icon ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติไว้ว่า สัญรูป แต่นิยมใช้คำทับศัพท์ว่า ไอคอน และ Protocol ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติไว้ว่า เกณฑ์วิธี แต่คำทับศัพท์ว่า โพรโทคอล นั้นเข้าใจได้ง่ายกว่า

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการบัญญัติศัพท์เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ของราชบัญฑิตนั้นมีความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะหลังจากราชบัญฑิตฯถูกชาวออนไลน์เข้าใจผิดเพราะฟอร์เวิร์ดเมล (จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งต่อกันมา) ซึ่งกล่าวหาว่าราชบัญฑิตฯบัญญัติศัพท์คำ hardware ว่า'กระด้างภัณฑ์' ราชบัญฑิตระบุว่าตลอดว่าไม่จริง ศัพท์บัญญัติที่ถูกต้องคือ 'ส่วนเครื่อง' และ 'ส่วนอุปกรณ์' ต่างหาก

เช่นเดียวกับคำว่า software ราชบัณฑิตยสถานไม่เคยบัญญัติว่า ละมุนภัณฑ์ แต่ศัพท์บัญญัติที่ถูกต้องคือ ส่วนชุดคำสั่งหรือคำว่า joystick คนเข้าใจผิดว่าราชบัณฑิตยสถานบัญญัติว่า แท่งหรรษา แต่ศัพท์บัญญัติที่ถูกต้อง คือ ก้านควบคุม และคำว่า pop-up menu คนเข้าใจผิดว่าราชบัณฑิตยสถานบัญญัติว่า เมนูโผล่ แต่ศัพท์บัญญัติที่ถูกต้อง คือ รายการเลือกแบบผุดขึ้น เช่นเดียวกับ pop-up window ราชบัณฑิตยสถานไม่ได้บัญญัติว่า หน้าต่างโผล่ แต่บัญญัติว่า หน้าต่างแบบผุดขึ้น หรือวินโดว์แบบผุด รวมถึงคำว่า Windows ก็ไม่ได้ถูกบัญญัติว่า พหุบัญชร แต่บัญญัติไว้ทับศัพท์เลยคือ วินโดวส์

ว่าแล้วคนไทยมาช่วยกันคิดดีกว่า ว่าจะเรียกแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีรูปทรงละม้ายคล้ายกระดานชนวนที่สุนทรภู่เคยใช้งานว่าอะไรกันดี

文章图片

评论


给此文章投票

创建者


gunkongsat

状态 : ผู้ใช้ทั่วไป
โลหะการ