ปกป้องเด็กจากภัยโลกออนไลน์ หน้าที่ใครต้องรับผิดชอบ

หลังจากที่ IT Digest ได้นำเสนอกิจกรรมของเว็บไซต์ ไทยฮอตไลน์ดอทโออาร์จี (www.thaihotline.org) มาต่อเนื่องจนเพิ่งเปิดตัว และประกาศการถึงดำเนินงานอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2552 ที่ผ่านมา คงต้องชมเชย และสนับสนุนมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ในฐานะผู้ดำเนินงานหลักที่มีความตั้งใจ เป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมบนอินเทอร์เน็ต เนื่องจากในยุคที่มีการหลอมรวมทางเทคโนโลยี เนื้อหาดิจิตอลบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน การเผยแพร่เนื้อหาที่เป็นอันตราย ผิดกฎหมาย มีมากตามไปด้วย แม้จะมีกฎหมายหลายฉบับที่ใช้ในการกำกับดูแล แต่ยังขาดการตีความที่ชัดเจนว่าเนื้อหาแบบใดที่เข้าข่ายไม่เหมาะสม หรือต้องห้าม ดังนั้น การที่ภาคเอกชนมาร่วมกันแก้ปัญหาการนำข้อมูลที่เป็นอันตรายเข้าสู่ระบบ ผ่านกลไกการแจ้ง และประสานงานระหว่างสมาชิกในลักษณะสายด่วนรับแจ้งเหตุเว็บไม่เหมาะสม จึงเป็นเรื่องดีที่น่าสนับสนุน เพื่อช่วยกันปกป้องสิ่งไม่ดีบนโลกออนไลน์ การล่อลวง หรือการล่วงละเมิดทางเพศ และแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กและเยาวชน

แต่นอกจากเว็บไซต์ไทยฮอตไลน์ที่กล่าวไปแล้ว ยังมีทางอื่นอีกไหมที่ไม่ต้องรอให้เกิดเรื่องราว หรือมีเว็บไซต์ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นมาสร้างปัญหาให้สังคมก่อน ดังนั้นนอกจากการเปิดตัวเว็บไซต์ไทยฮอตไลน์แล้ว จึงมีเวทีเสวนาของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งจากเครือข่ายครอบครัว องค์กรเอกชนด้านสิทธิเด็ก สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย และสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย ในหัวข้อ “การปกป้องเด็กบนโลกออนไลน์” เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาดังกล่าว

นางสาวกฤษณา พิมลแสงสุริยา เจ้าหน้าที่ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และเอเชียตะวันออก มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก หรือ ECPAT อธิบายว่า เนื่องจากเทคโนโลยีไอซีที และอินเทอร์เน็ตพัฒนาไปมาก ทำให้คนไม่หวังดีใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเข้าถึงตัวเด็ก อาทิ ไฮไฟว์ หรือ โปรแกรมสนทนา มาสร้างความสัมพันธ์ ดังนั้น เทคโนยีไม่ใช่ผู้ร้าย แต่คนที่เอาไปใช้ต่างหาก คือ ผู้ร้ายตัวจริง เพราะคนที่ชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก มักอาศัยเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้าไปสานสัมพันธ์ เพื่อหาโอกาสล่วงละเมิดจากนั้นจะมีการบันทึกวิดีโอเอาไว้ เพื่อเผยแพร่ให้กับสมาชิกคนอื่นๆ ในสมาคมด้วยกันเองได้ดู

เจ้าหน้าที่ฯ ECPAT อธิบายต่อว่า ยังมีคนที่มีความเชื่อว่า ต้องการสร้างประสบการณ์ทางเพศให้กับเด็ก หรือแม้แต่ทำในเชิงการค้าด้วยการร่วมเพศกับเด็ก แล้วถ่ายทอดสดออกทางอินเทอร์เน็ต ตามความต้องการของลูกค้าที่อยากดู เป็นต้น คนไม่ดีเหล่านี้อาศัยการทำให้เหยื่อไว้เนื้อเชื่อใจ ยอมให้เข้าใกล้ เมื่อรู้จักกันแล้วคนเหล่านี้จะพยายามบังคับหลอกล่อให้เด็ก แสดงท่าทางยั่วยวนทางเว็บแคม โดยคนเหล่านี้จะมีวิธีในการบังคับให้เด็กทำกิจกรรมทางเพศ (Internet Sexual Coercion) นอกจากนี้ยังมีการทำสื่อลามกเด็กโดยไม่ใช้เด็กเป็นบุคคลจริง แต่เปลี่ยนไปใช้ตัวการ์ตูน เป็นต้น 

ด้าน นางสาวทองไพรำ ปุ้ยตระกูล เจ้าหน้าที่มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก อธิบายถึงปัญหาของเด็กที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตว่า ปัญหาที่ทางมูลนิธิรับแจ้งที่ผ่านมา ได้แก่ การทารุณกรรม และการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก แต่ระยะหลังผู้ปกครองเริ่มโทรศัพท์มาปรึกษาเกี่ยวกับเด็กติดเกม ผลกระทบทำให้เกิดความรุนแรงจากเนื้อหาของเกมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ที่เด็กแต่ละคนมีแนวโน้มที่จะเล่นมากขึ้น ยากที่จะหยุดได้ เพราะเกมมีความตื่นเต้น เร้าใจ ส่งผลให้เด็กเริ่มไม่สนใจสังคม ไม่สนใจการเรียน เนื่องจากสมาธิจดจ่อกับเกม บางรายแอบขโมยเงินพ่อแม่ไปเล่นเกมที่ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ จนกลับบ้านดึก 

เจ้าหน้าที่มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก อธิบายต่อว่า ขณะที่ปัญหาจากการแชทพบมากขึ้น เพราะผู้ปกครองร้องเรียนว่าบุตรหลานเมื่อเล่นแชทแล้ว อยากออกไปเจอคนต่างประเทศ หรือเพื่อนที่แชทด้วยกัน แล้วสุดท้ายเด็กถูกหลอกให้โชว์เรือนร่าง ผ่านทางเว็บแคม แล้วโดนผู้ไม่หวังดีถ่ายรูปแบล็กเมล์เรียกร้อง ให้ยอมทำตามที่ผู้ไม่หวังดีต้องการ ดังนั้น อยากให้ภาครัฐที่มีอำนาจเข้าไปจัดการ ขณะที่ผู้ปกครองต้องคอยสอดส่อง หากมีสัญญาณอันตรายว่าบุตรหลานจะถูกล่อลวง จะต้องเข้าแทรกแซงทันที่ เพื่อป้องกันและพยายามพูดคุยกับบุตรหลานเพื่อสร้างความอบอุ่นในครอบครัว

“อยากให้ภาครัฐผลักดันกฎหมายการครอบครองสื่อลามก เพื่อดำเนินการกับผู้ที่มีภาพโป๊เปลือยของเด็ก ปัญหาเหล่านี้ทุกฝายต้องร่วมมือกัน เพราะพ่อแม่ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมเด็กไม่ทัน โดยต้องมีการอบรมให้เด็ก รู้จักสิทธิ์ความเป็นเจ้าของร่างกาย พ่อแม่ต้องปกป้องลูกมีการประเมินความเสี่ยงที่จะถูกล่วงละเมิดทาเพศ โดยความสัมพันธ์ในครอบครัวต้องแข้งแข็ง และมีความอบอุ่นในครอบครัวด้วย” นางสาวทองไพรำ กล่าว

เจ้าหน้าที่มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก อธิบายเพิ่มเติมว่า ถึงเวลาแล้วที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเสริมภูมิคุ้มกัน หรือให้วัคซีนแก่เด็กและเยาวชน ด้วยการยกระดับการเรียนรู้ของเด็ก พยายามสอนให้เด็กมีกระบวนความคิด เพื่อสร้างให้สังคมไทยเกิดความเข้มแข็ง ต้องเฟ้นหาแบบอย่างที่ดีในสังคม พยายามให้เด็กคิดเป็น รู้จักสิทธิ์ในร่างกาย อันจะทำให้เกิดสัญชาติญาณระวังภัย รวมทั้งรู้จักปฏิเสธ หรือห้ามปรามเมื่อมีผู้ไม่หวังดี เข้ามาใกล้ หรือเข้ามาลวนลาม 

ส่วน นางมรกต กุลธรรมโยธิน นายสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย ให้ความเห็นว่า เมื่ออินเทอร์เน็ตกระจายตัวไปสู่สังคมวงกว้าง นำไปสู่การเกิดขึ้นของ “สังคมดิจิตอล” หรือ โลกเสมือนบนพื้นที่ไซเบอร์ ที่ผู้คนสามารถแสดงออกในสิ่งที่สังคมปกติทำไม่ได้ ด้วยความที่มีอิสระเสรีมากกว่าอยูในโลกความเป็นจริง ความจริงแล้วอินทอร์เน็ตยังมีภัยอีกมากมาย ไม่ใช่มีแค่การล่อลวงเพื่อล่วงละเมิดทางเพศ ยังมีปัญหามัลแวร์ สแปมเมล์ และฟิชชิ่ง ด้วย เนื่องจากไอเอสพี คือ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ที่เชื่อมต่อทุกคนเข้าด้วยกัน ดังนั้นส่วนตัวมองว่า ไอเอสพีทุกรายจึงต้องให้ความร่วมมือ และประสานงานกันเพื่อร่วมแก้ปัญหาเว็บไซต์ไม่เหมาะสม

นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย ให้ความเห็นเสริมว่า ไม่ใช่ว่าแก้ปัญหาที่ไอเอสพีแล้ว ภัยออนไลน์ต่างๆ จะหายไป ยังต้องมีคนในครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครอง ครู โรงเรียน คอยอบรมให้คำแนะนำแก่เด็ก รวมทั้งสร้างกติการใช้การใช้อินเทอร์เน็ตตามความเหมาะสม เนื่องจากสังอินเทอร์เน็ตไม่ต่างไปจากสังคมจริงๆ ที่ยังมีมุมมืดที่คนมองไม่เห็น ดังนั้นหากเว็บไซต์ไม่ดี หรือเนื้อหาไม่เมหาะสมถ้าไม่กระจายไปสู่สังคม ก็ไม่มีคนที่รับรู้มาก ดังนั้นการทำงานของไทยฮอตไลน์ก็คงจะทำแบบเงียบๆ ไม่มีข่าวออกมาจะดีกว่า

พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวถึงการแก้ปัญหาการใช้อินเทอร์เน็ตล่อลวงเด็กไปล่วงละเมิดทางเพศว่า หลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเข้าไปปกป้องสวัสดิภาพแก่เด็ก ที่ถูกชาวต่างชาติลวนลาม แต่กลับกลายว่าเข้าไปขัดขวางการค้าประเวณี ที่เด็กยินยอมพร้อมใจ เด็กและเยาวชนเหล่านั้นจะรู้ไหมว่า ช่องทางการติดต่อผ่านแชทรูม หรือ เว็บแคมแบบนี้เป็นอัตรายต่อตัวเอง แม้ผ่านมากฎหมายของไทยให้ความคุ้มครองเด็ก ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างดีมาตลอด แต่บางครั้งตัวเด็กเองก็ไปสมยอม กับคนที่ชอบซื้อบริการทางเพศเด็ก เพื่อให้เกิดการกระทำความผิดเสียเอง

“ถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่ในสังคมจะช่วยกันปลูกจิตสำนึก และสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กดีกว่า ในต่างประเทศเด็กมีภูมิคุ้มกัน เพราะถูกอบรมเลี้ยงดู และมีวินัย แม้ว่าบ้านเมืองเขาจะมีเว็บโป๊ถูกกฎหมายมากมาย แต่เด็กไม่เปิดดูซ้ำยังมีการโวยวายไม่พอใจอีกด้วย แต่เด็กไทยไม่มีวินัยในตัวเอง มีความประพฤติหย่อนยาน เมื่อเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นมา มักโทษให้เป็นความรับผิดชอบของสังคม โรงเรียน และรัฐบาล พ่อแม่พลักความรับผิดชอบในการดูแลลูก ต่างจากผู้ปกครองต่างชาติที่เน้นความสำคัญของครอบครัวมากกว่างาน หรือเพื่อนฝูง ดังนั้นอยากให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก ได้เลือกบริโภคสื่อที่ดีบ้าง” นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวทิ้งท้าย

การให้เด็กได้เข้าถึงเทคโนโลยี เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมีการควบคุมและขอบเขต สิ่งที่อยากฝากให้สังคมไทยได้ตระหนัก คือ การทำให้เด็กไทยสามารถดูแลตัวเอง รู้จักแยกแยะ และปฏิเสธที่จะรับสื่อที่เหมาะสม จำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมเล็กในระดับครอบครัวต้องเข้มแข็ง และแสดงแบบอย่างที่ดี เพราะเด็กและเยาวชนใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากกว่า โรงเรียน หรือร้านเกม อย่าผลักภาระให้สังคมดูแลลูก เพราะสังคมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี หากตกไปอยู่ในหมู่ของคนไม่ดี เด็กย่อมได้รับอันตรายตามไปด้วย

Content's Picture

Comment(s)


Vote this Content ?

Create by :


krutapoo

Status : ผู้ใช้ทั่วไป
พณิชยการ