การปฏิรูปการศึกษา

กระบวนการปฏิรูปการศึกษา

 

          การดำเนินการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบายรัฐบาล และแนวทางที่กำหนดไว้ ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ หากพิจารณาประเด็นสำคัญก็จะพบว่า มี 2 เรื่อง คือ

          1. การปฏิรูประบบโครงสร้างการบริหารการศึกษา โดยเน้นการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาไปยังเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งแต่เดิมเป็นอำนาจของส่วนกลาง เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป การบริหารแบบเดิมไม่เหมาะสม หลายครั้งที่มีปัญหาในท้องถิ่น ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะผู้แก้ไขคือส่วนกลางที่ไม่เข้าใจ ไม่ทราบปัญหาที่แท้จริงของท้องถิ่น การให้ท้องถิ่นคิดกันเอง และแก้ไขปัญหาเองก็น่าจะเหมาะสมกว่า นอกจากนี้การบริหารจากส่วนกลางยังเป็นระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชนเท่าที่ควร ประกอบกับกระแสเรียกร้องจากประชาชนให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นดังนั้น เมื่อมีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น จะทำให้ภารกิจและบุคลากรส่วนกลางลดลง โครงสร้างก็จะเล็กลงด้วย เพื่อความเหมาะสม คล่องตัวมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทโดยบริหารในรูปของคณะกรรมการ

 

          ส่วนเขตพื้นที่การศึกษาจะมีขนาดหรือจำนวนเท่าใด ก็ขึ้นอยู่กับว่ารูปแบบไหนจะเกิดประสิทธิภาพการบริหารจัดการมากที่สุด ถ้าใหญ่มากควบคุมไม่ถึงก็ไม่ดี เล็กเกินไปก็มีมีปัญหาในเรื่องการเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆ สิ่งที่สำคัญคือ ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถยกระดับคุณภาพและฐานะของสถานศึกษาให้มีความเท่าเทียมหรือมีคุณภาพใกล้เคียงกัน ซึ่งปัจจุบันสถานศึกษามีความแตกต่างกันสูงมากสถานศึกษาในเมืองจะมีความสมบูรณ์และมีความพร้อมมากกว่าสถานศึกษาในชนบทถ้าจัดให้เขตพื้นที่ขนาดเล็ก จะเกิดความเหลื่อมล้ำ กลายเป็นการรวมโรงเรียนขาดแคลนเข้าด้วยกัน โรงเรียนสมบูรณ์รวมเข้าด้วยกัน เราไม่สามารถทุ่มเทงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดไปช่วยเหลือโรงเรียนที่ขาดแคลนได้ซึ่งต้องพิจารณาขนาดของเขตพื้นที่การศึกษาให้เหมาะสม

 

          การจัดโครงสร้างของกระทรวง จะมีการรวม 3 หน่วยงานเข้ามาอยู่ด้วยกัน คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ทบวงมหาวิทยาลัยและกระทรวงศึกษาธิการ ขณะนี้มีแนวโน้วว่าจะแบ่งออกเป็นกรมใหญ่ๆ 4-5 กรม และก็มีแนวโน้มที่จะแยกเรื่องวัฒนธรรมออกไปเป็นกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เนื่องจากเรื่องศาสนา วัฒนธรรมเป็นเรื่องสำคัญของชาติ ต้องมีหน่วยงานที่มีอำนาจ มาดูแลการบริหารจัดการ รวมทั้งเรื่องกีฬา ก็อาจจัดเป็นทบวงกีฬา ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงเหลือ 3 หน่วยงานหลัก คือ สำนักงานปลัดกระทรวง คณะกรรมการอุดมศึกษา และคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และขณะนี้ก็มีข้อเสนอให้เพิ่มคณะกรรมการอาชีวศึกษา เป็นอีกองค์กรหนึ่งด้วย เพราะเป็นส่วนที่จะสร้างคนให้มีความเข้มแข็ง พัฒนาคนให้มีการศึกษาเพื่ออาชีพ ซึ่งเดิมเรามองข้ามจุดนั้นไป ประเทศต่างๆ ได้เน้นการสร้างชาติโดยการสร้างคนให้มีอาชีพ จึงต้องยกการศึกษาอาชีพเป็นกรมขนาดใหญ่อีกกรมหนึ่งเป็นคณะกรรมการอาชีวศึกษา มีสถาบันสอนอาชีพหลายองค์กรมารวมกัน ทั้งอาชีวศึกษา วิทยาลัยชุมชน และส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอาชีพอื่นๆ

 

          2. การปฏิรูปการเรียนรูู้้ เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาที่สามารถดำเนินการไปได้พื้นที่โดยไม่ต้องรอการปรับแก้กฎหมาย มีส่วนสำคัญที่ต้องดำเนินการ 4 ส่วน ดังนี้

 

              2.1 การปฏิรูปหลักสูตร ประกอบด้วยหลักสูตรแกนกลางที่กรมวิชาการกำลังดำเนินการทดลองใช้หลักสูตร ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะมีผลต่ออนาคตของลูกหลานเราอย่างมาก ปัญหาที่พบขณะนี้ คือ แต่ละชั้นเรียนกันมากมายแต่ไม่รู้ว่าจำเป็นจริงๆ จะใช้อะไร เรียนอะไร หลักสูตรใหม่จะแยกความต้องการเรียนสาระ (Concept) ที่เหมาะสม มีการแบ่งช่วงชั้นปีว่านักเรียนควรได้รับอะไรโดยได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ท้องถิ่นต้องการให้เด็กเรียนตามความเหมาะสมและความต้องของแต่ละท้องถิ่น

 

              2.2 การปฏิรูปการเรียนการสอน โดยเน้นการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ หมายความว่า ครูต้องจัดกระบวนการเรียนการสอนที่ให้เด็กมีส่วนร่วมเปิดโอกาสให้เด็กแสดงความคิดเห็น แสดงออกตามความสามารถและวัยที่เหมาะสม เป็นการให้อิสระทางความคิดไม่ใช่สอนให้จำอย่างเดียว เพราะการจำจะไม่สามารถนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ได้ ถ้าเด็กได้พัฒนากระบวนการคิด ความรู้ก็จะติดอยู่กับเด็กตลอดไป ครูจะมีส่วนสำคัญมากสำหรับการจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบนี้

              2.3 การปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเน้นการพัฒนาครูให้ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ อาจต้องมีความรู้และทำงานหนักขึ้น สามารถแนะนำผู้เรียนได้ การพัฒนาครู ต้องดำเนินการพัฒนาใน 2 เรื่อง คือ พัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักสูตรที่เปลี่ยนแปลงไป และพัฒนาให้สามารถนำวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่มาใช้ได้

              2.4 การปฏิรูปการวัดผลและประเมินผล โดยเน้นการกำหนดมาตรฐานการประเมินโดยครูทั้งระบบ ถ้าเรามีหลักสูตรดี ครูดี วิธีสอนดี ก็ไม่ได้หมายความว่าการศึกษาต้องดี เพราะครูรู้แล้วอาจไม่นำไปสู่การปฏิบัติจึงต้องมีการวัดผลและประเมินผล การประเมินภายในโรงเรียน ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะสะท้อนให้เห็นการจัดการศึกษาในโรงเรียนว่ามีคุณภาพหรือไม่ และการประเมินภายนอกจากคนหรือองค์กรที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน ก็เป็นอีกระบบหนึ่งที่จะยืนยันถึงประสิทธิภาพการจัดการศึกษา

         ดังนั้น ข้าราชการของกระทรวงศึกษาธิการ ต้องช่วยกันผลักดันและแสดงศักยภาพที่จะทำงานให้การปฏิรูปการศึกษาสำเร็จตามที่ทุกคนคาดหวัง ความมุ่งมั่นและทุ่มเทที่จะทำงานเพื่อการปฏิรูปการศึกษา จะช่วยให้สิ่งที่ทุกคนต้องการ เช่นตำแหน่ง ความก้าวหน้า มั่นคงในวิชาชีพตามมาเองโดยไม่ต้องเรียกร้อง ที่สำคัญต้องสร้างความมั่นใจว่าผลลัพธ์สุดท้ายผู้เรียนมีคุณภาพที่แท้จริง มีคุณลักษณะและคุณภาพตามที่ประเทศชาติต้องการ เพราะการปฏิรูปการศึกษาจะเน้นคุณภาพ ประสิทธิภาพ และมาตรฐาน การจัดโครงสร้างการบริหารใหม่ก็เพื่อให้เกิดสิ่งเหล่านี้       
บทที่12

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


prasert

สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
ไม่ระบุ